ระหว่างวันที่ 21–26 เมษายน 2568 รศ.ดร.สุภาวิณี สัตยาภรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้เข้าร่วมโครงการศึกษาดูงานนโยบายการศึกษาและการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีน ภายใต้การนำของท่านองคมนตรี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ โดยมีท่านประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ 11 แห่ง ซึ่งเป็นผู้แทนจากแต่ละภูมิภาคเข้าร่วมด้วยการศึกษาดูงานครั้งนี้มุ่งเน้นการเรียนรู้แนวทางการพัฒนาการศึกษาของจีนในระดับนโยบาย โดยเฉพาะบทบาทของการศึกษาที่เป็นเครื่องมือหลักในการขจัดปัญหาความยากจนในระยะยาว รวมถึงการลงพื้นที่ศึกษาตัวอย่างจริงของการดำเนินนโยบายดังกล่าวในระดับท้องถิ่น ซึ่งครอบคลุมทั้งโรงเรียน ชุมชน และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ห่างไกล
วันที่ 1: เปิดมุมมองจากนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ
หัวข้อหลักของการดูงานในวันแรก ได้แก่ การเรียนรู้ นโยบายการศึกษาแบบครอบคลุม ของรัฐบาลจีน ซึ่งมีเป้าหมายในการขจัดความยากจนอย่างยั่งยืนผ่านระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ชนบทและห่างไกล ผ่านความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ คณะได้เข้าเยี่ยมชม Beijing University of Posts and Telecommunications ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีการเรียนการสอนระยะไกลให้แก่พื้นที่ยากจน รวมถึง Beijing Language and Culture University ที่เน้นการส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตชนบท จากนั้นได้ลงพื้นที่หมู่บ้านเหอจื่อ (Hezi) มณฑลกุ้ยโจว และอำเภอตูอัน (Du’an) เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เพื่อศึกษารูปธรรมของการขจัดความยากจน การฟื้นฟูชนบท และการสนับสนุนโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอย่างเป็นระบบ

วันที่ 2: เรียนรู้จากกลไกระดับชาติ
ภาคเช้า คณะได้เข้าเยี่ยมชมกระทรวงศึกษาธิการของจีน พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรองอธิบดี โดยได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารนโยบายแบบ Top-down ที่ยึดตามนโยบายของท่านประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ภายใต้แนวคิด “ขจัดความยากจนด้วยการศึกษา” ซึ่งมีการบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบจากระดับพรรค ระดับมณฑล ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน พร้อมด้วยระบบติดตามประเมินผลที่เคร่งครัด รัฐเป็นผู้ลงทุนหลักและขับเคลื่อนอย่างจริงจังภาคบ่าย เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมแห่งกรุงปักกิ่ง โดยมี ศ.ดร.ต้วน เผิง (Duan Peng) อธิการบดีและคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการใช้การศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำไปปรับใช้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วันที่ 4: การพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ
คณะได้ลงพื้นที่อำเภอกุ้ยหยาง ณ ตำบลฉางซุ่น เพื่อศึกษาการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมแห่งกรุงปักกิ่ง ร่วมกับมหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งกรุงปักกิ่ง ในการสนับสนุนโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่อาจารย์และนักศึกษาถูกส่งลงไปประจำการเป็นระยะเวลา 2–3 ปี เพื่อร่วมพัฒนาการเรียนการสอน พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ได้รับการพัฒนาด้านทักษะการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจีนยังได้สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านโครงการฟาร์มไก่ มูลค่า 500 ล้านหยวน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตรจากการทำนาแบบเดิม มาสู่การปลูก “นาเจียวป๋าย” ที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี สะท้อนถึงความสำเร็จของการบูรณาการการศึกษา เทคโนโลยี และเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
วันที่ 5: เสริมสร้างศักยภาพคนในพื้นที่
การศึกษาดูงานในวันที่ 5 คณะได้ลงพื้นที่อำเภอตูอัน ซึ่งมีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมแห่งกรุงปักกิ่ง กับโรงเรียนมัธยมตูอัน วิทยาลัยอาชีวศึกษาตูอัน และหมู่บ้านพัฒนาเผ่าเย้า มหาวิทยาลัยได้ส่งอาจารย์ไปฝังตัวในพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำ รัฐบาลจีนยังสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ชนเผ่าเย้า ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น TikTok เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ชุมชนแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับโมเดล Talent Mobility ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ดำเนินการอยู่ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยได้อย่างมีศักยภาพการศึกษาดูงานครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏและประเทศไทยในการเรียนรู้แนวทางการพัฒนาประเทศผ่านพลังของการศึกษา จากประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของประเทศไทยต่อไป
ภาพ/ข่าว PR URU